ภารกิจกองอาสารักษาดินแดน (อส.)


ภารกิจ อส.

บทบาทภารกิจของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (สมาชิก อส.) ในอดีต
กองอาสารักษาดินแดนได้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ กำหนดไว้มาโดยตลอด นับแต่วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๗ โดยมีกำลังสำคัญ คือ
สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน หรือสมาชิก อส. ในทุกจังหวัด/อำเภอ/กิ่งอำเภอ ทั่วประเทศ สมาชิก อส. เป็นกำลังพลกึ่งทหารของฝ่ายปกครอง รับสมัครจากราษฎรที่อาสาเข้ามา มีการควบคุมบังคับบัญชา และรักษาระเบียบวินัยเช่นเดียวกับทหาร ตำรวจ มีการฝึกฝนและอบรมเป็นอย่างดี ซึ่งในระยะแรกของการจัดตั้ง กองอาสารักษาดินแดน การปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิก อส.ส่วนใหญ่ เป็นไปในลักษณะสนับสนุนและ ช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการบรรเทาสาธารณภัยและการหาข่าวตามที่กำหนดในกฎหมายเป็นสำคัญ ต่อมาสถานการณ์การก่อการของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทางราชการจึงได้ใช้กำลังของสมาชิก อส. เข้าร่วมปราบปราม ซึ่งสมาชิก อส. ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญ เสียสละ จนมีผลงานและวีรกรรมเป็นที่ยอมรับและมีส่วนทำให้สถานการณ์ดังกล่าวสงบจนปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม สมาชิก อส. ก็ได้พลีชีพกับความสำเร็จดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
บทบาทภารกิจของสมาชิก อส. ในปัจจุบัน
หลังจากสถานการณ์การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ได้คลี่คลายจนสามารถยุติการสู้รบลง ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง กองอาสารักษาดินแดนจึงปรับเปลี่ยนบทบาทภารกิจของสมาชิก อส. ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากต้องปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งกำหนดไว้ ๖ ประการ คือ บรรเทาภัยที่เกิดจากธรรมชาติและการกระทำของข้าศึก, ทำหน้าที่ตำรวจรักษาความสงบภายในท้องที่ร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ, รักษาสถานที่สำคัญและ การคมนาคม, ป้องกันการจารกรรม สดับตรับฟังและรายงานข่าว, ทำความช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่ ฝ่ายทหารตามที่ทหารต้องการและตัดทอนกำลังข้าศึก, เป็นกำลังสำรองส่วนหนึ่งที่พร้อมจะเพิ่มเติมและสนับสนุนกำลังทหารได้เมื่อจำเป็น ภารกิจในปัจจุบันที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยที่สำคัญคือ
การบริการประชาชน
สมาชิก อส.ปฏิบัติภารกิจร่วมกับฝ่ายปกครอง ตามโครงการบริการประชาชนแบบเบ็ดเสร็จ และ“ โครงการ อส.บริการประชาชน  ซึ่งเป็นโครงการที่กรมการปกครองสนองตอบนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย นอกเหนือจากการให้บริการอื่น ๆ ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว อาทิ การให้บริการนอกเวลาราชการโดยไม่พักเที่ยงหรือให้บริการในช่วงวันหยุด เป็นต้น และในเดือนตุลาคม ๒๕๔๗ ได้กำชับให้มีการคำเนินการตามโครงการ อส. บริการประชาชน โดยคัดเลือกสมาชิก อส. ที่มีบุคลิกดี มีวินัย มีความรู้ มีทัศนคติ และมีกริยาท่าทาง วาจาที่ดี เพื่อปฏิบัติหน้าที่ด้านบริการประชาชน อย่างน้อยอำเภอละ ๒ คน โดยมีการอบรมให้มีความรู้ และทัศนคติที่ดีในงานบริการดังกล่าวก่อนปฏิบัติงาน ซึ่งการบริการประชาชนนี้ เป็นภารกิจหลักที่เน้นหนักในการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิก อส. ในปัจจุบัน
สำหรับการบริการประชาชนด้านการจราจร หรือการตั้งหน่วยบริการด้านจราจรระวังตรวจสอบ ผู้ใช้รถ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บ เสียชีวิต ในช่วงวันหยุดเทศกาลต่าง ๆ เช่น วันปีใหม่ วันสงกรานต์ ก็ยังปฏิบัติอยู่เป็นประจำและต่อเนื่อง จนสามารถลดสถิติการสูญเสียได้อย่างชัดเจน
การรักษาความสงบเรียบร้อย
การรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย กองอาสารักษาดินแดนเป็นหน่วยขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย จึงมีหน้าที่หลักที่สำคัญในการปฏิบัติงานด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยให้บังเกิดผล โดยสั่งใช้สมาชิก อส. ปฏิบัติภารกิจร่วมกับฝ่ายปกครอง ทหารและตำรวจ ภารกิจสำคัญในขณะนี้ เช่น การแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้, การปราบปรามและกวาดล้างอาวุธสงครามและแหล่งผลิตอาวุธปืน วัตถุระเบิด ที่มิชอบด้วยกฎหมาย ทุกประเภท, การขจัดแหล่งปลูกพืชเสพติด ผู้ผลิต และสกัดกั้นเส้นทางลำเลียง ตลอดจนสอดส่อง ผู้มีอิทธิพลที่ให้การสนับสนุนในการค้ายาเสพติด, การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม โดยประสานการปฏิบัติอย่างใกล้ชิดกับฝ่ายปกครองและตำรวจ, การตั้งด่านตรวจ สกัดกั้นสิ่งผิดกฎหมายต่าง ๆในเขต ชุมชน, การควบคุมดูแลผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบในศูนย์พักพิงชั่วคราวที่จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน ราชบุรี กาญจนบุรี และนครพนม การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายในตามแนวชายแดน และการร่วมกับตำรวจตั้งจุดตรวจ จัดชุดลาดตระเวนปราบปรามผู้ลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ค้าของเถื่อนตามแนวชายแดน การขนแรงงานต่างด้าว และการรักษาความปลอดภัยพระตำหนัก ฯลฯ
และจัดให้มีโครงการเพื่อสนับสนุนการรักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อความเหมาะสมกับสภาพปัจจุบันคือ
 โครงการฝึกอบรมหลักสูตรทบทวนการป้องกันการก่อความไม่สงบ 
ในพื้นที่เสี่ยงต่อการ ก่อความไม่สงบ อันได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา นครราชสีมา และเชียงใหม่ โดยหวังให้การปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิก อส. ในการระงับ ควบคุม และสลายฝูงชนในพื้นที่ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ให้เกิดความสูญเสีย มีจิตวิทยาควบคุมฝูงชน มีจิตสำนึกในการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ภาวะความตึงเครียด เพื่อให้ประชาชนเกิดทัศนคติที่ดี ไว้วางใจและเชื่อมั่นต่อหน่วยงานของรัฐ โดยจะดำเนินการอบรมตาม โครงการ ฯในช่วงระหว่างวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ – ๑ เมษายน ๒๕๔๘ จำนวน ๖ รุ่น ๆละ ๑๔๐ คน รวม ๘๔๐ คน
การแก้ไขปัญหายาเสพติด
ด้านการปราบปราม สมาชิก อส. ปฏิบัติงานร่วมกับฝ่ายปกครองและตำรวจ เพื่อดำเนินการปราบปรามยาเสพติด การตรวจตราสถานบริการเพื่อค้นหายาเสพติด การเฝ้าระวังจุดตรวจตาม แนวชายแดนและสกัดกั้นการลักลอบหรือลำเลียงยาเสพติด ซึ่งต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
ด้านการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพและผู้ติดยาเสพติด นำผู้ติดยาเสพติดเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษาจากสถานพยาบาลของรัฐบาล ส่วนกลุ่มผู้เสพจะต้องนำเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษาและพัฒนาโดยใช้ชุมชนบำบัด กรมการปกครองได้ร่วมกับกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม โดยใช้กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดต่าง ๆ เช่น พะเยา พิษณุโลก ตาก อุทัยธานี นราธิวาส บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ นครศรีธรรมราช เลย และกองร้อยบังคับการและบริการ กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน (ส่วนแยกชะอำ) เป็นสถานที่บำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด โดยเริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๔๖ เป็นต้นมา และใช้สมาชิก อส.เป็นผู้บริการ เจ้าหน้าที่ ครูฝึก และวิทยากร ไปพร้อมกัน
ด้านการเฝ้าระวังการกลับมาและเอาชนะยาเสพติดอย่างยั่งยืน โดยดำเนินการด้านการสร้างหมู่บ้าน/ชุมชนเข้มแข็งเอาชนะยาเสพติด สมาชิก อส. ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานความร่วมมือจากองค์กร ภาครัฐ เอกชน ประชาชน และกลุ่มพลังมวลชนในพื้นที่ ในการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ของหมู่บ้าน/ชุมชนเข้มแข็งเอาชนะปัญหายาเสพติด ร่วมปฏิบัติงานกับชุดปฏิบัติการประจำตำบล นอกจากนี้ยังมี  โครงการเยาวชนอาสารักษาดินแดนต้านภัยยาเสพติด  เพื่อใช้พลังเยาวชน อาสารักษาดินแดนในการเอาชนะยาเสพติดอย่างยั่งยืน โดยอบรมให้เยาวชนเห็นภัยยาเสพติดไม่เข้าไป เกี่ยวข้องและช่วยกันสอดส่องดูแลต้านภัยยาเสพติดในสังคมของตน จะเป็นผลทำให้เยาวชนมีจิตสำนึก ในการเป็นเยาวชนที่ดี ส่งผลให้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต ดำเนินโครงการช่วงระหว่างวันที่ ๑ มีนาคม – ๒๙ เมษายน ๒๕๔๘ โดยให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนการฝึกอบรมจังหวัดละ ๒ รุ่น ๆละ ๑๒๐ คน
การจัดระเบียบสังคม
การตรวจสถานบริการตามนโยบายจัดระเบียบสังคมของกระทรวงมหาดไทย เช่น การสั่งใช้สมาชิก อส. ปฏิบัติงานร่วมกับฝ่ายปกครองและตำรวจ ในการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหา ยาเสพติดในสถานบริการ การหาข่าวอาชญากรรม และการกระทำผิดในพื้นที่ รวมทั้งผู้มีอิทธิพลและ แหล่งอบายมุขต่าง ๆ ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายในการตรวจสถานบริการโดยเคร่งครัด การตรวจบัตรประจำตัวประชาชนไม่ให้ผู้มีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี เข้าไปในสถานบริการ การตรวจปัสสาวะหาสารเสพติด การกวดขันเวลาปิด-เปิดสถานบริการตามกฎหมายกำหนด โดยเฉพาะตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ฯลฯ
การป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน
การป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนเป็นภารกิจของฝ่ายปกครองในการประสานกับหน่วยต่าง ๆ เพื่อป้องกัน บรรเทาอันตราย หรือความเสียหายอันเกิดจากสาธารณภัยทุกประเทศ การก่อวินาศกรรมและรวมถึงการอพยพประชากรและส่วนราชการ สมาชิก อส. มีหน้าที่ในการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ตามมาตรา ๑๖(๑) แห่งพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน(บก.อส.) จึงได้จัดให้มีชุดปฏิบัติการ  อส. กู้ภัย  เพื่อทำหน้าที่ในการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนร่วมกับฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ของทางราชการในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ โดยจัดให้มีการฝึกอบรม สมาชิก อส. ให้มีความรู้ในเรื่องการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน มีการฝึกซ้อม และจัดหน่วยปฏิบัติไว้ให้พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้ทันที การปฏิบัติที่เห็นเด่นชัดในเหตุการณ์ที่ผ่านมาคือ ภัยพิบัติที่เกิดจากคลื่นยักษ์สึนามิ ที่มีสาเหตุจากแผ่นดินไหวใน ๖ จังหวัดภาคใต้ที่ผ่านมา ก็ได้จัดสมาชิก อส.ในจังหวัดใกล้เคียงไปร่วม สมทบกับสมาชิก อส.ในพื้นที่ปฏิบัติหน้าที่ในการกู้ภัยในพื้นที่เกิดเหตุดังกล่าว
การปฏิบัติการจิตวิทยา
สมาชิก อส. มีบทบาทในการทำงานร่วมกับประชาชน การพัฒนาชุมชน โดยการจัดชุด  อส. สัมพันธ์  ให้บริการประชาชน การอำนวยความเป็นธรรม พัฒนาหมู่บ้าน สร้างและซ่อม สิ่งสาธารณประโยชน์ เช่น ถนน เหมือง ฝาย การแสดงดนตรีในงานต่าง ๆ การบริการตัดผม และการบริการด้านอื่น ๆ ในการออกอำเภอเคลื่อนที่หรือจังหวัดเคลื่อนที่ การรณรงค์ประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง การปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นต้น
การส่งเสริมการท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวเป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่ส่งเสริมเศรษฐกิจของไทยให้ดีขึ้นจึงเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ดังนั้นเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล จึงได้จัดชุด  อส. ท่องเที่ยว  ดูแลสถานที่แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ อำนวยความสะดวก บริการข้อมูลแนะนำสถานที่ ท่องเที่ยวภายในประเทศ และรักษาความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว ฯลฯ
ในอดีตที่ผ่านมา สมาชิก อส. ได้ชื่อว่าเป็น  นักรบประชาชน  ที่ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่ กับ ฝ่ายปกครอง ทหารและตำรวจ จนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก และปัจจุบันสมาชิก อส. ก็ยังคงเป็นกำลังสำคัญของฝ่ายปกครองในการปฏิบัติภารกิจการรักษาความสงบเรียบร้อย การข่าว การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตลอดจนการปฏิบัติงานสนองนโยบายรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย โดยเป็นกองกำลังสำคัญของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ อุทิศตัว และตรากตรำ ในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น การช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ อุทกภัย อัคคีภัย วาตภัย แผ่นดินไหว คลื่นยักษ์ ฯลฯ หรือการปฏิบัติหน้าที่ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้การนำของฝ่ายปกครอง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตั้งแต่ต้นจนเสร็จสิ้นภารกิจ ซึ่งบางครั้งเป็นเวลานานนับเดือนหรือหลายเดือน การเสียสละในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อสังคมและประเทศชาติของพวกเขาเหล่านั้น เป็นภารกิจที่สำคัญและมากมายเกินกว่าค่าตอบแทนประจำเดือนหรือเบี้ยเลี้ยงประจำวันที่ได้รับ จึงไม่มีอะไรตอบแทนที่ดีไปกว่าการให้เขาเหล่านั้นมีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ดังนั้นทุกวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันสถาปนากองอาสารักษาดินแดนของทุกปี จะมีการพิจารณามอบรางวัลกองร้อยอาสารักษาดินแดนดีเด่น และสมาชิก อส.ผู้ปฏิบัติงานดีเด่น จึงขอเชิญพวกเรามาร่วมเป็นเกียรติ ร่วมแสดงความยินดี และร่วมเป็นกำลังใจแก่พวกเขาเหล่านั้นที่ได้รับรางวัล แต่อย่าลืมนึกถึงสมาชิก อส. ผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละจนเกิดผลดีแก่ทางราชการทุกคนที่ไม่ได้รับรางวัลในวันนั้นด้วยเหตุผลใดก็ตามที จงขอให้นึกเสมอว่า

 ถึงแม้ท่านจะไม่ได้รับรางวัลอะไร แต่ความภูมิใจในเกียรติภูมิของท่านยังคงมีอยู่แน่นอนและตลอดไป