ประวัติความเป็นมา




 ปวงข้า อส.ขอตั้งสัจจา จะปกป้องพาราจนสิ้นใจ 


ความเป็นมาของกองอาสารักษาดินแดน

 โดยที่การป้องกันประเทศชาติในสถานการณ์สงครามปัจจุบัน เป็นหน้าที่ของประชาชนพลเมืองทุกคน ที่จะต้องร่วมมือช่วยเหลือและจะต้องได้รับการศึกษาอบรมเพื่อให้มีความรู้ในการที่จะป้องกันตนเองและประเทศชาติ จึงจำเป็นต้องมีการฝึกอบรม และจัดตั้งหน่วยบังคับบัญชาเตรียมไว้ตั้งแต่เวลาปกติ 

เป็นเหตุผลสำคัญในการจัดตั้งกองอาสารักษาดินแดน

กองอาสารักษาดินแดน เป็นองค์กรขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย มีฐานะเป็นนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็น ผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดน หลักการสำคัญในการจัดตั้งคือ เพื่อมีกำลังสำรองไว้ช่วยเหลือประชาชนและประเทศชาติ ทั้งยามปกติและสงคราม โดยรับสมัครราษฎรที่สมัครใจอาสาเข้ามาเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (สมาชิก อส.) พัฒนาการของกองอาสารักษาดินแดนสามารถแบ่งได้เป็น ๓ ระยะ คือ
ระยะก่อน พ.ศ. ๒๔๕๔
สมัยโบราณเมื่อเกิดภาวะสงคราม จะมีราษฎรที่ไม่ใช่ทหารรวมตัวกันต่อสู้กับข้าศึกเพื่อรักษา แผ่นดิน อาทิ สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ศึกบางระจัน ชาวบ้านบางระจันที่ไม่ใช่ทหารพยายามต่อสู้กับพม่าจนสิ้นกำลัง ประมาณ พ.ศ. ๒๓๐๘-๒๓๐๙
สมัยการสู้รบที่เมืองถลาง คุณหญิงจันและนางมุก (ท้าวเทพกษัตรี และท้าวศรีสุนทร)
สมัยกู้อิสรภาพเมืองนครราชสีมา โดยการนำของคุณหญิงโม (ท้าวสุรนารี)
สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนากองเสือป่าขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๔๕๔ เป็นกองพลอาสาสมัครเพื่ออบรมข้าราชการและประชาชนให้รู้จักรักชาติ รู้จักหน้าที่ในการป้องกันรักษาประเทศชาติ
ระยะตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๔ - ๒๔๙๗
มีความพยายามที่จัดตั้งหน่วยพลเรือนอาสาขึ้นให้เป็นระบบ ทั้งในยามปกติและสงคราม มีการนำแนวคิดจากต่างประเทศมาใช้หลังจากมีการจัดตั้งกองเสือป่าขึ้น สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายก รัฐมนตรี ได้มีพระราชบัญญัติกำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบ พ.ศ. ๒๔๘๑ และพระราชบัญญัติให้อำนาจในการเตรียมการป้องกันประเทศ พ.ศ. ๒๔๘๔ ขึ้น เพื่อฝึกอบรมคนไทยให้รู้จักหน้าที่ในการที่จะป้องกันรักษาประเทศชาติในเวลาสงคราม โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการ
ระยะตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๗ - ปัจจุบัน
มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๗ ทำให้การดำเนินการด้านพลเรือนอาสา มีรูปแบบและระบบที่ชัดเจน ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนาตามลำดับจนถึงปัจจุบัน

 วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ของทุกปี จึงเป็นวันคล้ายวันสถาปนากองอาสารักษาดินแดน